Friday, September 22, 2023
spot_img
HomeOther Countriesเปิดประชุมสุดยอดเอเปค ท่ามกลางประท้วงในกรุงเทพฯ-เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ - บีบีซีไทย

เปิดประชุมสุดยอดเอเปค ท่ามกลางประท้วงในกรุงเทพฯ-เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ – บีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
ตำรวจสลายการชุมนุม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” จับกุม-ทำร้ายสื่อบาดเจ็บหลายคน
การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 29 เปิดฉากที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประเทศไทย เป็นเวลาสองวัน ซึ่งเป็นการประชุมพบหน้ากันแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกในรอบ 4 ปี ท่ามกลางสถานการณ์การประท้วงในกรุงเทพฯ และการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ที่คาดว่าเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปตกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น ช่วงเช้าที่ผ่านมา
ความคืบหน้าเรื่องการชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ ของประชาชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา มีผู้บาดเจ็บทั้งผู้ร่วมชุมนุม และสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 ราย
อีกด้านหนึ่งระหว่างการประชุมกำลังมีขึ้นที่กรุงเทพฯ  ผู้นำและผู้แทนสมาชิกเอเปคส่วนหนึ่ง ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมกันประณามการยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปที่คาดว่าเป็นของเกาหลีเหนือดังกล่าว
 การรวมตัวของสมาชิกเอเปคกลุ่มนี้ เกิดขึ้นราว 1 ชั่วโมงก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น โดยเป็นการรวมตัวตามคำเรียกร้องฉุกเฉินจากนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
 "การกระทำครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือเป็นการละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหลาย ๆ ข้อ อย่างน่าไม่อาย" นางกมลา ระบุ  "มันสั่นคลอนความมั่นคงในภูมิภาคและยกระดับความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น"
 
ที่มาของภาพ, POOL/AFP/Getty Images
นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประชุมร่วมกับผู้นำอีก 5 ชาติเอเปค เพื่อหารือเรื่องการยิงทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเปคที่กรุงเทพฯ เมื่อ 18 พ.ย.
วันที่ 18 พ.ย. 2565  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะเจ้าภาพประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุมโดยขอให้สมาชิกเอเปค ร่วมผลักดันความยั่งยืนและการพัฒนาของเอเปค หลังต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์
"เราไม่สามารถอยู่อย่างที่เคยเป็นมา เราจำเป็นต้องปรับมุมมอง วิถีชีวิต และวิถีการดำเนินธุรกิจ" นายกฯ ไทย กล่าว ท่ามกลางผู้นำสมาชิกเอเปคอย่าง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประกอบไปด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีประชากรรวมกัน 38% ของโลก ขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 62% ของมูลค่าเศรษฐกิจมวลรวม (จีดีพี) และการค้าระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนราว 48% ของทั้งโลก
ที่มาของภาพ, APEC 2022 Thailand
พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้กล่าวถึงการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งทางการญี่ปุ่นระบุว่า เพิ่งถูกยิงตกในน่านน้ำที่อยู่ห่างจากเกาะโอชิมะของญี่ปุ่นประมาณ 200 กิโลเมตร และมีศักยภาพที่จะยิงไกลไปถึงสหรัฐฯ ได้
นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวระหว่างร่วมประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ว่า "เกาหลีเหนือกระทำการยั่วยุครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"
ด้านทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการหารือกับผู้นำในภูมิภาคในที่ประชุมเอเปคเกี่ยวกับกรณีที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธทดสอบดังกล่าว
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ เป็นการประชุมระดับผู้นำในภูมิภาคเอเชียเป็นงานที่ 3 ในรอบสัปดาห์ ตั้งแต่การประชุมสุดอาเซียนที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เข้าร่วม และการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศจี 7 ที่บาหลี อินโดนีเซีย
เอกสารสรุปประเด็นข่าวของที่ประชุมเอเปคที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ระบุว่า การประชุมวันนี้ (18 พ.ย.) ให้ความสำคัญกับโมเดลเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นหลัก
ผู้นำได้หารือแนวทางการใช้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมความพยายามของเอเปคในการบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน  หลังจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 33 ได้มีฉันทามติร่วมกันในการขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG Model หรือร่างเป้าหมาย กรุงเทพฯ เรื่อง BCG ไปแล้ว ก่อนให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองในวันเสาร์ที่ 19 พ.ย.
กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า ร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคเห็นชอบ "ถือเป็นความสำเร็จที่จะเป็นภาพจำสำคัญที่สุดของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้"
ไทยยังได้จัดตั้งรางวัล BCG เพื่อมอบให้แก่บุคคลและหน่วยงานที่นำแนวคิด BCG มาใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ การประชุมยังมีวาระเรื่องการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ซึ่งมีการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค เพื่อร่างถ้อยแถลงร่วมกันไปแล้วเมื่อ 17 พ.ย. โดยที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปค ไปสู่เป้าหมายของการจัดตั้ง FTAAP ขึ้นในอนาคต 
ที่มาของภาพ, APEC 2022 Thailand
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (18 พ.ย.) ว่า การประชุมเอเปคเกิดขึ้นที่ "จุดเชื่อมต่อสำคัญ" ขณะที่ทั้งโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงหลายประการ
"นี่เป็นเหตุผลที่เอเปคในปีนี้ต้องอยู่เหนือความท้าทายเหล่านี้และส่งมอบความหวังให้กับโลกในวงกว้าง" นายดอน ระบุในแถลงการณ์
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวเตือนเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ถึงความตึงเครียดของสงครามเย็นในภูมิภาคซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ พร้อมชี้ว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก "ไม่ใช่สนามหญ้าหลังบ้านของใคร" และไม่ควรเป็นเวทีของการแก่งแย่งของมหาอำนาจ
"ไม่มีความพยายามที่จะก่อสงครามเย็นครั้งใหม่อันใด ที่จะได้รับอนุญาตจากประชาชนหรือโดยยุคสมัยของเรา" นายสี ระบุในแถลงการณ์สำหรับการประชุมหารือด้านธุรกิจระหว่างการประชุมเอเปค
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้งจีนและสหรัฐฯ มีควา ตึงเครียดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในประเด็นการตั้งกำแพงภาษีการค้า ประเด็นไต้หวัน ทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นฮ่องกง และประเด็นพิพาทในทะเลจีนใต้
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
ความเคลื่อนไหวที่อาจมองได้ว่าเป็นการยั่วยุจีน คือ การเตรียมเยือนหมู่เกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ บริเวณพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ ของนางกมลา รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า
การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระดับสูงสุดที่เคยเดินทางไปยังหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งถูกอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนโดยหลายประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม
ด้านโกลบอลไทม์ส หนังสือพิมพ์ของทางการจีน เผยแพร่บทบรรณาธิการในภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิบัติตามคำมั่นที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ไว้กับนายสี จิ้นผิง ระหว่างพบกันที่การประชุมจี 7 ว่าสหรัฐฯ "จะไม่ก่อสงครามเย็นและโดดเดี่ยวจีน"
สื่อของทางการจีน กล่าวด้วยว่า การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. จะเป็น "บททดสอบแรกในการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ"
© 2022 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก

source

spot_img
RELATED ARTICLES
spot_img

Most Popular